เปิดชีวิตเจ้าพ่อติ๊กต็อก จากวิศวะธรรมดา สู่เศรษฐีอันดับที่ 9 ของจีน ด้วยวัยเพียง 37 ปี

รู้จัก จางอีหมิง ผู้ก่อตั้งแอปพลิเคชัน TikTok โดยเพจดังอย่าง บูรพาไม่แพ้ ได้สรุปเอาไว้ว่าดังนี้… เริ่มต้นจากวิศวกรคอมพิวเตอร์ธรรมดา ก้าวขึ้นเป็น เศรษฐีอันดับที่ 9 ของจีน ด้วยวัยเพียง 37 ปี แต่วันนี้เขากลายเป็นสายลับพรรคจีนในสายตาของรัฐบาลสหรัฐ และถูกบีบให้ต้องขๅยกิจการที่เขาสร้างขึ้นด้วยน้ำพักน้ำแรงให้กับบริษัทอเมริกัน

จาง อีหมิง เป็นชาวจีนแคะจากมณฑลฝูเจี้ยน แม่เป็นพยาบาล พ่อทำงานในหน่วยงานด้านวิทยาศาสตร์ท้องถิ่น งานของพ่อบ่มเพาะความสนใจของเขาด้านเทคโนโลยี จากที่เพื่อน ๆ ของพ่อมักแวะมาที่บ้านเพื่อดื่มชาและคุยเรื่องการสร้างสรรค์เทคโนโลยีใหม่

หลังจบการศึกษาด้านวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ จากมหาวิทยาลัยหนานไค มหาวิทยาลัยชั้นนำของจีนที่เมืองเทียนจิน เขาได้เริ่มทำงานกับ Kuxun เว็บไซต์ค้นหาข้อมูลการท่องเที่ยว

2 ปีต่อมา จางอีหมิงเข้าร่วมงานกับไมโครซอฟท์ แต่ไม่นานก็ลาออกเพราะรับไม่ได้กับกฎเกณฑ์ที่ยุ่งยากของบริษัทยักษ์ใหญ่ หลังจากนั้นก็ได้ก็ตั้งบริษัทสตาร์ทอัปของตัวเอง ทำเว็บไซต์ค้นหาบ้านเช่า แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ

เขาสังเกตพบว่า ผู้คนเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตจากคอมพิวเตอร์มาเป็นสมาร์ทโฟน เขาคิดจะใช้ปัญญาประดิษฐ์ หรือ #AI เชื่อมโยงความสนใจของผู้ใช้งานอย่างแม่นยำ จึงก่อตั้งบริษัท #ไบท์แดนซ์ หรือ 字节跳动 ขึ้น

เล่ากันว่า ปี 2012 ที่ร้านกาแฟแห่งหนึ่งในกรุงปักกิ่ง จางอีหมิงเขียนผังบริษัทในกระดาษทิชชูให้เพื่อนดู และติดต่อขอกู้เงิน 50 ล้านหยวน จากธนาคารเพื่อการลงทุนการพัฒนาแห่งชาติจีน

แต่ได้รับการปฏิเสธว่า “หน้าตาของคุณไม่เหมือนคนที่สามารถทำการใหญ่ได้”

ในที่สุด เขาได้เงินสนับสนุน 3 ล้านดอลลาร์จากชัสเชฮันนา อินเตอร์เนชั่นแนล บริษัทลงทุนด้านเทคโนโลยี ผลงานชิ้นแรกของบริษัทคือแอปพลิเคชันรวมข่าวชื่อ “โถวเถียว” หรือ “พาดหัวข่าว” ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม มีผู้ใช้มากกว่า 13 ล้านคนต่อวัน ผลงานชิ้นนี้ทำให้ไบท์แดนซ์กลายเป็นดาวรุ่ง และได้รับเงินลงทุนจากหลายแหล่ง

ศึกดับดาวรุ่งจากยักษ์ใหญ่แดนมังกร

แอพรวมข่าว “โถวเถียว” ประสบความสำเร็จอย่างมาก ทั้ง ๆ ที่ไม่มีผู้สื่อข่าว ไม่มีบรรณาธิการ ไม่ผลิตข่าวเอง แต่ใช้เทคโนโลยี AI คัดเลือกข่าวจากสื่อต่าง ๆ เพื่อออนไลน์ในแอพของตนเองด้วยเวลาเพียงไม่ถึง 10 วินาที

แต่นี่คือการละเมิดลิขสิทธิ์ และทำให้จางอีหมิงถูกฟ้องร้องจากสื่อทั่วประเทศจีน จนในที่สุดเขาต้องทำข้อตกลงร่วมกับกับสื่อจีนหลายพันแห่งเพื่อยุติปัญหา

ปี 2015 ไบท์แดนซ์เปิดตัวแอปพลิเคชัน “โต่วอิน” ที่ให้ผู้ใช้อัพโหลดวิดีโอสั้น ๆ สนุกสนานพร้อมเพลงและลูกเล่นต่าง ๆ ได้รับความนิยมจากกลุ่มวัยรุ่นอย่างถล่มทลาย

ความสำเร็จของ “โต่วอิน” ที่ต่อมาได้ขยายตลาดสู่สากลในชื่อ TikTok ถึงขนาดทำให้ #วีแชท เจ้าตลาดแอพสนทนาในจีนต้องบล็อกการเข้าถึงเพื่อสกัดคู่แข่งรายนี้ ทั้ง 2 ฝ่ายฟ้องร้องกันเป็นคดีความ โดยอ้างว่าแต่ละฝ่ายกล่าวหาทำให้เสียชื่อเสียง แต่วันนี้ทั้งคู่กลับต้องมาเผชิญชะตากรรมร่วมกันจากน้ำมือของสหรัฐอเมริกา

อเมริกา หวัง “ชุบมือเปิบ” อ้างภัยความมั่นคง

นอกจากแอพรวมข่าว “โถวเถียว” และ TikTok ที่เป็นฐานรายได้สำคัญแล้ว ไบท์แดนซ์ยังสร้างแอปพลิเคชันมากมายหลายสิบแอพ มีผู้ใช้รวมกันมากกว่า 1,000 ล้านคน มีมูลค่ามากกว่า 75,000 ล้านดอลลาร์ ราว ๆ 2.35 ล้านล้านบาท สูงกว่าอูเบอร์ และเป็นสตาร์ทอัปที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลก จางอีหมิงผู้ก่อตั้งไบท์แดนซ์ กลายเป็นเศรษฐีอันดับที่ 9 ของแดนมังกร

การผงาดในเวทีโลกของแอพจากแดนมังกร ทำให้เจ้าพ่ออย่างเฟซบุ๊กนิ่งเฉยไม่ไหว มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ผู้ก่อตั้งเฟซบุ๊ก ออกโรงกล่าวหาว่า TikTok เซนเซอร์การประท้วงทางการเมือง ทำลายโลกเสรีทางอินเทอร์เน็ต

เจ้าพ่อเฟซบุ๊กยังเป็นคนเดียวที่ยอมรับกับคณะกรรมมาธิการของรัฐสภาสหรัฐว่า “รัฐบาลจีนขโมยเทคโนโลยี” ขณะที่ผู้บริหารยักษ์ใหญ่โลกออนไลน์คนอื่นทั้งไมโครซอฟท์ อเมซอน กูเกิล ต่างแบ่งรับแบ่งสู้ว่า “ไม่มีหลักฐานว่าจีนขโมยเทคโนโลยี เป็นเพียงเรื่องที่ได้ยินมาเท่านั้u”

จางอีหมิง ออกมาตอบโต้ว่า TikTok กำลังผจญกับพวกชอบขโมยความคิด และใส่ร้ายป้ายสีจากคู่แข่ง ….และไม่นาน เฟซบุ๊กก็ออกแอพแบบเดียวกับ TikTok

จางอีหมิงเป็นเศรษฐีวัยหนุ่มที่สันโดษ เขาแทบจะไม่ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน ชาวจีนจำนวนมากไม่รู้จักหน้าค่าตาของเขาด้วยซ้ำ

นี่เองทำให้เขาเลือกที่จะ “ยอม” มากกว่า “ต้าน” เช่น หลังจากจีนบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงในฮ่องกง TikTok ก็ถอนตัวจากบริการในฮ่องกงทันที และเมื่อเผชิญแรงกดดันจากสหรัฐ เขาก็ยอมแทบจะทุกอย่าง

ตั้งสำนักงานที่เมืองลอสแองเจลิส แต่งตั้งนายเควิด เมเยอร์ อดีตผู้บริหารของวอลท์ ดิสนีย์ ให้เป็น CEO ของบริษัท รวมทั้งยินดีให้ผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบโค้ดที่อยู่เบื้องหลังอัลกอริทึม ซึ่งถือเป็นความลับสุดยอดของเทคโนโลยีออนไลน์

ในประเทศจีนเว็บไซต์และแอปพลิเคชันต่างชาติจำนวนมากถูกปิดกั้น แต่ “ความจริงที่ถูกลืม” คือ กูเกิลเคยให้บริการในจีนมาก่อน มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ผู้มีภรรยาเชื้อสายจีนเคยเดินทางไปจีนหลายครั้งเพื่อเปิดทางเฟซบุ๊กในแดนมังกร แต่สุดท้ายบริษัทเหล่านี้ไม่ยอมรับกฎหมายของจีนที่ให้ตั้งเซฟเวอร์ในจีน และเก็บรักษาข้อมูลเพื่อให้ตรวจสอบได้

ขณะเดียวกัน ก็มีบริษัทอเมริกันมากมายที่ประสบความสำเร็จในจีน ไมโครซอฟท์มีตลาดจีนเป็นตลาดใหญ่ ชาวจีนนิยมใช้ #ไอโฟน และจีนมีแอปเปิลสโตร์ขนาดใหญ่ที่สุดในโลก

แหล่งที่มา : บูรพาไม่แพ้ / thousandreason

เรียบเรียงโดย baansuann.com