จวกยับ!! อดีตบิ๊ก ทส. ชี้ อาคารร้อยปี คุณค่ามากมาย สร้างใหม่ไม่เหมือนเดิม

เป็นประเด็นที่หลายคนให่กความสนใจอย่างมาก กรณี อาคารร้อยปี สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 13 (แพร่) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ดำเนินการโครงการปรับปรุงซ่อมแซมอาคารศูนย์เรียนรู้ป่าไม้ สวนรุกขชาติเชตวัน

ที่บริเวณชุมชนเชตวัน ริมแม่น้ำยม อ.เมือง จ.แพร่ ด้วยราคาจ้างด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ โดยมีห้างหุ้นส่วนจำกัด แพร่โกสินทร์ก่อสร้าง ชนะการประมูลที่ราคา 4,560,000 บาท แต่ผู้รับเหมากลับทุบอาคารดังกล่าวทิ้ง

ทำให้เครือข่ายรักษ์เมืองเก่า และชาวแพร่ ต่างไม่พอใจ เพราะอาคารดังกล่าวมีอายุกว่า 120 ปี ถือเป็นสถานที่ประวัติศาสตร์ของเมืองแพร่ ซึ่ง ผวจ.แพร่ ได้สั่งตั้งกรรมการสวนสวนเอาผิดการรื้อถอน พร้อมกำชับให้สร้างอาคารกลับมาให้เหมือนเดิม

ความคืบหน้าวันที่ 17 มิ.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การรื้อถอนอาคารดังกล่าวทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ของข้าราชการในกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) และแวดวงนักวิชาการด้านการป่าไม้เป็นอย่างมาก

โดย ดร.วิจารย์ สิมาฉายา อดีตปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ถึงกรณีดังกล่าว โดยระบุว่า ก็ได้แต่เสียดาย มีโอกาสไปเยือนก่อนเกษียณ และยังแนะนำให้เจ้าหน้าที่ในขณะนั้นเขียนเรื่องราวทั้งอาคาร ทั้งพื้นที่ ทั้งประเภทและอายุต้นไม้ ในบริเวณข้างเคียง และอนุรักษ์ไว้ ถือว่าเป็นอาคารที่มีความสำคัญทางด้านประวัติศาสตร์

ทั้งอายุของอาคารมากกว่า 120 ปี และเป็นพื้นที่ที่มีการศึกษาและพัฒนาทางด้านการป่าไม้ของไทย ที่มีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยง ทั้งการศึกษาป่าไม้ การวิจัย การค้าและการอุตสาหกรรมป่าไม้ จนมาถึงปัจจุบัน ซึ่งตนเคยแนะนำไปนานแล้วว่าเรื่องนี้ต้องหารือกับกรมศิลปากร และทำความเข้าใจกับชุมชนด้วย ควรใช้การบูรณะ เพราะเทคโนโลยีปัจจุบันล้ำแล้ว

ดร.วิจารย์ ให้ความเห็นอีกว่า โครงการดังกล่าวควรจะบูรณะรักษาโครงเดิม ไม่ใช่รื้อ หรือต้องรับฟังความเห็นของพื้นที่ประกอบด้วย เพราะเป็นสิ่งที่เราไม่ควรมองข้าม สร้างใหม่ให้เหมือนเดิมความรู้ก็ไม่อาจกลับคืนได้ ไม้ทุกแผ่น ได้มาจากป่า 128 ปี หรือปูนทุกเม็ดมีความหมายที่เราต้องเรียนรู้ แม้สร้างใหม่จะสวย หรือสวยกว่า

แต่คุณค่าทางประวัติศาสตร์จะหายไป อีกทั้งความรู้สึกมนุษย์ ของเก่าอนุรักษ์ บูรณะ อายุนับต่อกัน เอกลักษณ์ วัสดุกว่า 100 ปี ทุกชิ้นมีความหมายทางใจ คุณค่าทางประวัติศาสตร์และควรชี้แจงประชาชนด้วย

ขณะที่ นางอำนวยพร ชลดำรงค์กุล อดีตรองอธิบดีกรมป่าไม้ ระบุว่า ฝีมือช่างสมัยโบราณกับสมัยใหม่แตกต่างกัน ความปราณีตของช่างแต่ละคนไม่เหมือนกัน น่าเสียดายมาก น่าจะเป็นการซ่อมแซมอนุรักษ์มากกว่าการทุบทำลาย แล้วสร้างเลียนแบบขึ้นมาใหม่ คุณค่าทางจิตใจไม่เหมือนกัน

ด้าน ผศ.ดร.ขวัญชัย ดวงสถาพร อาจารย์คณะวนศาสตร์ และผู้ทรงคุณวุฒิกรรมการสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา ได้โพสต์รูปภาพอาคารดังกล่าวและข้อความผ่านเฟซบุ๊ก โดยระบุว่า ผมถ่ายรูปอาคารไม้สักหลังนี้ที่ริมแม่น้ำยมจังหวัดแพร่เมื่อตอนตันปีนี้ (19ม.ค.63) วันนี้ทราบทางสื่อต่างๆ ว่า มีการรื้อทั้งหลังจนเหลือแต่เนินดิน โดยให้เหตุผลว่าเพื่อซ่อมแซมให้ดี

ในฐานะที่เป็นคนสอนและศึกษาวิจัยด้านนโยบายป่าไม้ นอกจากมีโอกาสได้ชื่นชมความวิจิตรตระการตาของอาคารไม้สักหลังนี้แล้ว ทำให้ผมเห็นภาพคุณค่าทางประวัติศาสตร์และความยิ่งใหญ่ของการป่าไม้ไทยอย่างลึกซึ้งมากกว่าอ่านในตำราอย่างเดียว

เมื่อกลับมากรุงเทพฯ ผมยังได้หารือนอกรอบในที่ประชุมคณะอนุกรรมการจัดทำร่างนโยบายป่าไม้แห่งชาติฯ ว่า น่าจะอนุรักษ์อาคารไม้สักของเมืองแพร่ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ ประวัติศาสตร์ของการป่าไม้ไทยและประเทศไทย และของคนไทยทุกคน แต่ทันที่ที่ทราบข่าวและเห็นภาพมีหลายความรู้สึก และหลายคำถามเกิดขึ้น

 

แหล่งที่มา : khaosod.co.th

เรียบเรียงโดย : baansuann.com