สามล้อลุงพึง วัย 79 ปี คันสุดท้ายในตาคลี จากยุคทองสู่วันที่ไม่มีลูกค้า

วันนี้เราจะพาเพื่อน ๆ มาติดตามตำนาน สามล้อลุงพึง คันสุดท้ายในอำเภอตาคลี จ.นครสวรรค์

เปิดใจเล่าถึงยุคทองของอาชีพคนขับสามล้อ สู่วันที่ต้องปลดเกษียณตัวเองในวัย 79 ปี

เมื่อวันที่ 7 ก.ย.63 ผู้สื่อข่าวได้สอบถาม ลุงพึง หรือ นายสุนทร ว่องธัญญากร อายุ 79 ปี

ประกอบอาชีพถีบสามล้อมานานกว่า 50 ปี อยู่ในเขตพื้นที่ อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์

เปิดใจว่า ตนเองถีบสามล้อมาตั้งแต่อายุ 15 ปี มีลูก 4 คน ลูก 3 คนมีครอบครัวแยกย้ายกันไปอยู่

จึงอาศัยอยู่กับลูกอีกคนที่บ้าน ได้ขี่สามล้อเลี้ยงชีพมาตั้งแต่สมัยฝรั่งยังไม่เข้ามาอยู่ที่ตาคลี

สมัยก่อนถีบสามล้อได้เที่ยวละ 1-2 บาท จะถีบไปส่งที่ว่าการอำเภอ โรงพยาบาล

ตลาดศรีเทพ ตลาดบนวงเวียน หากมีลูกค้าเยอะวันหนึ่งได้มากถึง 200-300 บาท

เพราะเมื่อก่อนมีประจำทางน้อยคัน ถือว่าอาชีพถีบสามล้อสามารถหาเลี้ยงครอบครัวได้ดี

ลุงพึง เล่าต่อว่า ตนเองจะจอดให้บริการอยู่บริเวณข้างร้านเซ่งกี่เบเกอรี่ตลาดบน

หรือหน้าโรงหนังรุ่งนภาเก่า และต่อมาในสมัยที่ฝรั่งเข้ามาอยู่ในเมืองตาคลี เรียกว่าเป็น

“ยุคสามล้อตาคลีถูกหวย” เพราะฝรั่งจ่ายเป็นเงินดอลลาร์

สามล้อในยุคนั้นบางคนถึงกับไม่ค่อยรับลูกค้าที่เป็นชาวตลาด จะรับแต่พวกฝรั่งจีไออย่างเดียว

เมื่อรับฝรั่งไปส่งถึงจุดหมาย ฝรั่งก็ถามว่า How many (เท่าไร) สามล้อก็ชูสองนิ้ว (หมายถึง 2 บาท แต่ฝรั่งจ่าย 2 ดอลลาร์)

และมายุคฝรั่งสุดท้ายฝรั่งจีไอย้ายมาจากโคราช สามล้อตาคลีขี่รับฝรั่งเช่นเคย ฝรั่งเที่ยวนี้ไม่เหมือนทุกรุ่น

เพราะฝรั่งชุดนี้พูดไทยได้ ถามว่าเท่าไร พอสามล้อชู 2 นิ้ว ฝรั่งก็จ่าย 2 บาท เป็นเรื่องราวในอดีตของสามล้อตาคลีที่ผ่านมา

ช่วงที่ฝรั่งเข้ามาอยู่ที่ตาคลี ลุงพึง บอกเป็นช่วงที่มีรายได้ดีมาก แต่มาปัจจุบันอาชีพถีบสามล้อนับวันจะหมดไป

เพราะคนถีบสามล้อรุ่นเก่า ๆ ล้มหายจากกันไปหลายคน ประกอบสมัยนี้มีรถยนต์ รถจักรยานยนต์ส่วนตัวกันมากขึ้น

ทำให้อาชีพถีบสามล้อลดหายไปเกือบจะหมด จนเหลือตนอยู่คันเดียว ก็ทนถีบสามล้อไปรับลูกค้าได้เที่ยวละ 20 บาท

แต่ก็ไม่ค่อยมีลูกค้ามาใช้บริการเท่าไร บางวันได้วันละ 100-200 บาท

ต่อมาก็ไม่ค่อยมีลูกค้าเท่าไร จึงต้องยอมปลดเกษียณ อาชีพถีบสามล้อไปและประจวบกับร่างกายก็ไม่ค่อยไหว

ปวดเข่า เพราะอายุมากขึ้นเลยต้องหยุดถีบสามล้อและขๅยสามล้อไปแล้ว อยู่บ้านกับลูก ๆ และหาเลี้ยงไก่ไข่ไว้กินไข่ต่อไปกับชีวิต

 

 

แหล่งที่มา: thairath