ทายาทรุ่น 4 แบกไม่ไหว ปิดตำนานบ้านโบราณ 130 ปี เปิดชม 3-4 ต.ค. 63 นี้ เป็นครั้งสุดท้าย

วันนี้เราจะพาทุกคนมาติดตามเรื่องราว ที่บ้านเลขที่ 152 ชุมชนบ้านเหนือ ต.บางระกำ อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก แหล่งท่องเที่ยวชมบ้านไม้สักรูปทรงแปลก อายุ 130 ปี มีผนังบ้าน 6 เหลี่ยม เป็นบ้านหลังเดียวของเมืองพิษณุโลกที่โดดเด่นไม่มีใครเหมือน

หลังจากนายสณัฐ อำไพพงษ์ ข้าราชการบำนาญที่ภายหลังเกษียณอายุราชการจากการท่าเรือ ผู้เป็นทายาทรุ่นที่ 3 ของตระกูลอำไพพงษ์ กลับมาใช้ชีวิตที่บ้านเกิด และอนุรักษ์บ้านทรงโบราณหลังนี้ไว้ให้ประชาชน อาจารย์ นักศึกษา เข้าชมหลายปีแล้ว

แต่หลังจากนายสณัฐ เสีຍชีวิตลงเมื่อเดือน มิ.ย. 2562 ด้วยวัย 79 ปี บ้านหลังนี้ได้ปล่อยทิ้งรกร้าง ไม่มีผู้ดูแลต่อ สภาพหน้าบ้านเต็มด้วยวัชพืชและทรุดโทรม ต่อมา พ.อ.อ.นิธิศ ธนะชูติวีรนันท์ อายุ 38 ปี อดีตทหารอากาศที่ลาออกจากราชการ และเป็นทายาทรุ่นที่ 4 ได้กลับมาใช้ชีวิตที่บ้านเกิด อ.บางระกำ

จึงเข้ามาปรับปรุงบูรณะบริเวณบ้าน เพื่อเปิดให้ประชาชน นักท่องเที่ยว ได้เข้าชมบ้านโบราณอายุ 130 ปีได้อีกครั้ง ตั้งแต่ปี 2562 พร้อมปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณด้านหน้า ถากถางวัชพืช เปิดมุมกาแฟ ให้ผู้สนใจเข้าชมฟรีเป็นเวลาประมาณ 1 ปี

“ในช่วงแรกได้เปิดให้ชมไม่ได้คิดค่าเข้าชม ทำให้ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยว ทั้งในพิษณุโลกและต่างจังหวัดเข้ามาชมอย่างต่อเนื่อง แต่หลังจากนั้นนักท่องเที่ยวเริ่มหดหาย ทายาทรุ่นที่ 4 จึงประกาศยุติการเปิดบ้านให้เที่ยวชม โดยในวันที่ 3-4 ต.ค.นี้ นักท่องเที่ยวยังสามารถมาเที่ยวชมและเก็บภาพที่ระลึกได้ เป็นครั้งสุดท้าย”

พ.อ.อ.นิธิศ เปิดเผยว่า เมื่อก่อนบ้านหลังนี้ตั้งอยู่ริมแม่น้ำยม อ.บางระกำ เป็นบ้านที่มีรูปทรง 8 เหลี่ยม ที่เป็นรูปทรงหนึ่งที่คนจีนโบราณเชื่อว่า เลข 8 จะนำมาซึ่งความมั่งคั่ง ร่ำรวย และนำพาสิ่งดี ๆ อันเป็นสิริมงคลแก่การดำเนินชีวิต

ภายหลังแม่น้ำยมเซาะตลิ่งเข้ามาใกล้ตัวบ้าน เจ้าของจึงทำการย้ายให้ไกลออกมาจากฝั่ง โดยใช้วิธีย้ายแบบดีดบ้านและลากเลื่อนมา โดยไม่ต้องรื้อหรือเอาสิ่งของภายในบ้านออก

“การรื้อยาวครั้งนั้น ตัวบ้านได้เกิดความเสียหายบางส่วน จึงปรับแบบบ้านให้เหลือเพียง 6 เหลี่ยม เพื่อให้เข้ากับพื้นที่ 300 กว่าตารางวาของบริเวณบ้าน และที่เห็นเด่นชัดและสะดุดตาแก่ผู้ผ่านไปมาในชุมชน คือ บานประตูเฟี้ยม ที่เป็นไม้สัก มีความงดงามและยังรักษาได้ในสภาพที่ดี”

พ.อ.อ.นิธิศ กล่าวต่อว่า สำหรับบ้านโบราณหลังนี้ เจ้าของบ้านคือนายเป้า หรือ ก๋งเป้า อำไพพงษ์ (รุ่นที่ 1) ที่เกิดในบ้านหลังนี้เมื่อ 114 ปีก่อน หรือ พ.ศ.2448

ส่วนผู้สร้างบ้านหลังนี้คือบิดาของก๋งเป้า คือ แป๊ะส้มมุ้ย แซ่แต้ ที่มายึดอาชีพค้าขๅยใน อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก จึงประมาณการว่า การสร้างบ้านหลังนี้ต้องสร้างก่อนก๋งเป้าเกิดประมาณ 15-16 ปี ปัจจุบัน พ.ศ.2563 บ้านจึงมีอายุประมาณ 130 ปี

พ.อ.อ.นิธิศ กล่าวอีกว่า จากคำบอกเล่าของคุณลุงสณัฐ อำไพพงษ์ บ้านหลังนี้บรรพบุรุษได้ตกทอดกันมาจากรุ่นสู่อีกรุ่น โดยใช้ช่างจากกวางตุ้ง สร้างจากไม้สักเป็นท่อน ๆ 60-70 ท่อนซุงในสมัยก่อน มาเลื่อย ช่างใช้เวลาสร้างบ้านประมาณ 1 ปีกว่า หมดค่าจ้างสมัยนั้นประมาณ 7,000-8,000 บาท

สำหรับตัวบ้านมีรูปทรง 8 เหลี่ยม มีห้องทั้งหมด 7-8 ห้อง มีบันไดทางขึ้นถึง 3 ทาง ภายในยังมีพวกข้าวของเครื่องใช้ ที่มีขนาดใหญ่ เช่น ตู้ โต๊ะ เก้าอี้ ที่เป็นของโบราณมีอายุอยู่คู่บ้านมานาน

ความน่าสนใจ คือ สถาปัตยกรรมตัวบ้านแบบโบราณที่ช่างได้ทำไว้ เป็นภูมิปัญญาที่หาดูได้ยาก มีการเตรียมป้องกับภัยโดยมีช่องทางลับ หรือช่องส่องโจร ในการเฝ้าระวังบ้าน มีช่องเก็บสมบัติ ที่เจาะไว้กับเสาเรือน พื้นบ้านเพื่อป้องกันภัยโจรปล้น บันไดทางขึ้นบางจุด มีแผ่นไม้ปิด ที่สามารถเปิดจากด้านบนได้สะดวก มีกลอนสลักลงล็อคไว้แน่นหนา

ซึ่งโจรไม่สามารถขึ้นมาได้ง่าย นอกจากนี้แต่ละห้องจะมีช่องลม ให้อากาศถ่ายเท โดยบ้านสมัยปัจจุบันไม่มีให้เห็นแล้ว ส่วนหลังคาเป็นสังกะสีแผ่นหนาที่ไม่ผุกร่อนเหมือนแผ่นสังกะสีในปัจจุบัน บ้านยังคงสภาพสมบูรณ์แบบเหมือนเดิม

ส่วนของโบราณที่ตระกูลเก็บสะสมสืบทอดกันมา บริเวณชั้น 1 มีโอ่งหยกโบราณอายุ 100 ปี เป็นสินค้าแลกเปลี่ยนการค้าของเมืองไทยและจีนในสมัยโบราณ ขณะที่ชั้น 2 ของบ้านที่มีบันไดขึ้นถึง 3 บันไดนั้น จะเปิดให้ขึ้นได้ 1 บันได ข้างบนเก็บสิ่งของโบราณหลากหลายชนิด

ส่วนใหญ่เป็นอุปกรณ์การค้าข้าวสมัยก่อน ของที่เก่าแก่ที่สุดคือผ้าลายปักจากเมืองจีนที่มีอายุ 100 กว่าปี นอกเหนือจากเดินชมบริเวณระเบียงชั้นสองได้รอบบ้านแล้ว ยังมีช่องให้ขึ้นไปชมโครงสร้างหลังคาของบ้าน ที่ทำบันไดเพื่อปีนขึ้นไปดูโครงสร้างของบ้านหกเหลี่ยมได้ ที่บ้านสมัยปัจจุบันไม่มีการสร้างแบบนี้แล้ว เพราะจะสร้างปิดทึบด้วยแผ่นกระเบื้องทั้งหมด

พ.อ.อ.นิธิศ กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาเปิดให้เข้าชมตั้งแต่เวลา 08.00-20.00 น. และเปิดมุมกาแฟให้ผู้สนใจได้สนับสนุน แต่ด้วยสภาพวิกฤตทางเศรษฐกิจ และโรคโควิด-19 ระบาด ทำให้ระยะ 4-5 เดือนที่ผ่านมา แทบไม่มีนักท่องเที่ยวแวะเข้ามาเที่ยวชมเลย บางวันมีรายได้จากการขๅยกาแฟได้เพียง 30 บาท

พ.อ.อ.นิธิศ กล่าวต่อว่า ก่อนหน้านี้ มีความพยายาม ในการสร้างให้บริเวณบ้านและพื้นที่ชุมชน เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่เชื่อมโยงถึงกันได้ เมื่อแวะมา อ.บางระกำ นักท่องเที่ยวสามารถแวะไหว้พระ ที่วัดสุนทรประดิษฐ์ ชิมก๋วยจั๊บโบราณ เดินทางมาชมบ้านโบราณ 8 เหลี่ยม 6 มุม อายุ 130 ปี

จากนั้นไปเที่ยวชม บ้านไทยทรงดำ วิถีชุมชนไทยทรงดำ เที่ยวชมบึงตะเคร็ง ก่อนเดินทางไปท่องเที่ยวจุดท่องเที่ยวต่าง ๆ  ได้ แต่ความพยายามไม่เป็นผล เนื่องจากไม่มีการเผยแพร่ข้อมูลให้นักท่องเที่ยวได้ทราบ

นอกจากนี้ ยังเคยติดต่อทางหน่วยงานรัฐเพื่อช่วยเหลือประชาสัมพันธ์ ให้ข้อมูลด้านท่องเที่ยวบ้านโบราณบางระกำ ให้เป็นที่รู้จักกระจายไปทั่วประเทศ แต่เรื่องก็เงียบไป ทำให้หมดหนทางในการสร้างแหล่งท่องเที่ยวให้เกิดขึ้นในชุมชน และด้วยภาระจากการดูแลบ้านโบราณที่มีค่าใช้จ่าย และไม่สามารถดำรงชีพอยู่ได้

จึงตัดสินใจยุติการเที่ยวชมบ้านโบราณทรงแปดเหลี่ยม 6 มุม ไปก่อน เพื่อรอโอกาสอันเหมาะสม หรือทางอำเภอมีแผนฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยว อาจจะหวนกลับมาเปิดบ้านโบราณให้เที่ยวชมได้ แต่เวลานี้คงต้องปิดบ้านไว้ก่อน

“นักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบ สามารถแวะมาชมบ้านโบราณได้ในวันที่ 3-4 ต.ค.นี้เป็นครั้งสุดท้าย และในวันนี้กิจกรรมเปิดบ้านแต่เช้า ให้นักท่องเที่ยวมากินไข่กระทะ อาหารเช้า กาแฟ ก่อนเที่ยวชมถ่ายภาพเป็นที่ระลึกเป็นการอำลาก่อนที่บ้านจะปิด เพราะโอกาสแนวโน้มการเปิดบ้านค่อนข้างริบหรี่” พ.อ.อ.นิธิศ กล่าว

สำหรับผู้สนใจจะเข้าชมบ้านโบราณครั้งสุดท้าย สามารถเดินทางมาชมได้ที่ อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก โดยสามารถทางเข้าได้หลายจุด โดยเส้นทางที่สะดวก คือเข้าทางซอยข้างปั๊มน้ำมันซัคโก้ จะอยู่ตรงข้ามกับโรงเรียนบ่อวิทยศึกษา จะมีป้ายบอกว่า เข้ามาที่บ้านโบราณ หรือ ชุมชนบ้านเหนือ เมื่อเข้ามาจากถนนใหญ่ประมาณ 300 เมตร จะเห็นบ้านโบราณ ติดแม่น้ำยม

แหล่งที่มา: khaosod

เรียบเรียงโดย baansuann.com