นักร้องวงดนตรีตกงาน หันมาเป็นช่างทำรถจักรยานยนต์จิ๋วแก้จน

หลังจากเจอวิกฤตการเเพร่ระบาดของ โ ค วิ ด – 1 9 นักร้อง นักแสดง คนในวงการบันเทิงเดือดร้อนกันไปทั่ว “เสรี พู่กัน” หรือนายเสรี อำมาตย์เอก อายุ 51 ปี นักร้องวงดนตรีรำวงเวียนครกชื่อดังภาคใต้ “วงพู่กัน” คนนี้ก็เช่นกัน ไร้งานแสดงทำให้ขาดรายได้จึงหันมาเป็นช่างซ่อมดัดแปลงรถจักรยานยนต์จิ๋วเลี้ยงครอบครัว

“เสรี” อาศัยอยู่บ้านเลขที่ 15 หมู่ 3 บ้านสาคูใต้ ต.ช้างซ้าย อ.พระพรหม จ.นครศรีธรรมราช เปิดบ้านตัวเองเป็นอู่ซ่อมผลิตและดัดแปลงรถจักรยานสองล้อ รถจักรยานยนต์ รถจักรยานยนต์สำหรับเด็ก เครื่องตัดหญ้า เครื่องยนต์ขนาดเล็กต่างๆ ด้วยความเป็นคนมีฝีมือและคิดราคาไม่แพง จึงมีลูกค้ามาใช้บริการไม่ขาดสาย

ในเส้นทางสายดนตรี เสรี เล่าว่า วงดนตรีรำวงเวียนครก เมื่อก่อนเคยเฟื่องฟูมากและมาแผ่วลงในช่วงปี 2540 เพราะมีเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ โปรแกรมคาราโอเกะเข้ามา นักดนตรีหลายคนตกงาน จนกระทั่งปี 2548 นายไพฑูรย์ อินทศิลา แห่งสำนักข่าวนครโพสต์ ได้มีโครงการประกวดแข่งขันวงดนตรีรำวงเวียนครกขึ้น เพื่อปลุกกระแสและเรียกความนิยมขึ้นมาใหม่

วงดนตรีรำวงเวียนครก “วงพู่กัน” เป็นวงดนตรีน้องใหม่ สมาชิกนักร้อง นักดนตรี ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเด็กวัยรุ่นรวมตัวกันฝึกฝนพัฒนาฝีมือการแสดงจนขึ้นมาอยู่ในอันดับต้นๆ ของ จ.นครศรีธรรมราช มีตนเป็นนักร้องนำ ซึ่งถือว่ามีอายุเยอะที่สุดในวง สมาชิกทุกคนจึงให้ความเคารพนับถือและเรียกกันติดปากว่า ลุงเสรี หรือ น้าเสรี

วงพู่กัน รับงานแสดงทั่วภาคใต้เดือนละ 20-25 งาน แต่ละเดือนได้พักแค่ 3-5 วันเท่านั้u ค่าตัวที่ได้รับคืนละ 1,000 บาท และจะมีค่าทิปที่ผู้ชมการแสดงชื่นชอบมอบให้อีกจำนวนหนึ่ง นอกจากร้องนำ ตนยังแสดงเป็นตัวโจ๊กบนเวทีเพื่อสร้างความครื้นเครงสนุกสนานอีกด้วย

เสรี เล่าถึงเหตุที่ต้องกลับมาทำอาชีพเดิมว่า “ตั้งแต่ โ ค วิ ด ระบาดสร้างความเดือดร้อนให้กับตนและสมาชิกในวง รวมทั้งอาชีพที่เกี่ยวข้อง เช่น เจ้าของเวที เครื่องเสียงให้เช่า แดนเซอร์ แต่ละคนต้องแยกย้ายกันหาอาชีพอื่นทำ ต้องดิ้นรนขวนขวายเพื่อเอาชีวิตรอดเลี้ยงครอบครัวให้ได้”

ส่วนตนโชคดีที่เคยเป็นช่างซ่อมเครื่องยนต์มาก่อนตอนหนุ่มๆ เลยกลับมาทำอาชีพเดิม ด้วยความที่ชื่นชอบและเรียนรู้เกี่ยวกับเครื่องยนต์ขนาดเล็กมาตลอด จึงได้สะสมชิ้นส่วน ซากรถ อะไหล่รถเก่าๆ เครื่องยนต์เลื่อยตัดหญ้า เลื่อยยนต์ บางส่วนพรรคพวกเพื่อนฝูงก็ให้มา

ยามว่างตนก็จะนำมาดัดแปลงเป็นรถจักรยานสองล้อ รถจักรยานยนต์จิ๋วสำหรับเด็ก ความเร็วประมาณ 30-40 กม./ชม. พ่อแม่ผู้ปกครองที่มีลูกเล็ก เด็กๆ เมื่อเห็นรถจักรยานยนต์จิ๋วที่ตนทำก็จะชื่นชอบมาก พ่อแม่ก็จะนำเครื่องยนต์เก่าที่เสียหรือไม่ได้ใช้มาให้ตนดัดแปลงทำให้ลูก สนนราคาคันละประมาณ 5-6 พันบาท ช่วยให้ตนมีรายได้พออยู่ได้ในยุค โ ค วิ ด

ส่วนภรรยาของตนเป็นช่างถมเงิน ถมทอง เช่น สร้อยคอ สร้อยข้อมือ ต่างหู แหวน เครื่องประดับต่างๆ ทำได้หมด โดยเขาจะรับงานมาทำที่บ้านช่วยหารายได้ช่วยกันอีกแรง สภาพครอบครัวก็พออยู่ได้ไม่ขัดสนมากนัก ต่างคนก็ต่างให้กำลังใจกันและหวังว่าสถานการณ์ โ ค วิ ด จะดีขึ้นโดยเร็ว

แหล่งที่มา dailynews

เรียบเรียงโดย baansuann.com