นักวิชาการเผย ทำบุญปล่อยปลาดุก มีแต่ทำลายระบบนิเวศ แนะหันมาสร้างประโยชน์ดีกว่า

เมื่อไม่นานมานี้ มี ดร.นณณ์ ผาณิตวงศ์ นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านระบบนิเวศน้ำจืด ได้ออกมาโพสต์ข้อความผ่านทางเฟซบุ๊ก Nonn Panitvong โดยมีข้อความระบุว่า..

คำนวณผลกระทบของปลาดุกปล่อยต่อระบบนิเวศ สรุปสำหรับใครที่ขี้เกียจอ่าน ปลาดุก 1 ตันกินสัตว์น้ำประมาณ 1,800,000 ตัวต่อปี

ปลาดุกที่นิยมเลี้ยงเพื่อนำมาเป็นอาหารในปัจจุบันในประเทศไทย เป็นปลาดุกลูกผสมที่เกิดจากปลาดุกยักษ์จากทวีปแอฟริกาและปลาดุกอุย ลูกปลาที่เกิดมาเป็นปลาลูกผสมที่ถือว่าเป็นชนิดพันธุ์ต่างถิ่น เรียกชื่อทางการค้าว่า “ปลาดุกบิ๊กอุย” เป็นปลาที่โตเร็ว มีเนื้อดีพอสมควรและเป็นหมัน การใช้ประโยชน์คือนำมาบริโภคตามจุดประสงค์ที่ถูกเลี้ยงขึ้นมา

ในปัจจุบันมีผู้นิยมนำปลาดุกบิ๊กอุยไปปล่อยในแหล่งน้ำธรรมชาติของประเทศไทยเพื่อทำบุญ แต่การกระทำดังกล่าว ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศในพื้นที่นั้น ๆ โดยผมจะขอยกตัวอย่าง ในกรณีที่ปลาดุกที่ถูกเลี้ยงมาในที่เลี้ยงด้วยอาหารสำเร็จรูปตลอดชีวิตสามารถปรับตัวหัดหาอาหารเองในธรรมชาติเป็น ไม่ถูกใครจับไปเสียก่อน ดังนี้

สมมุติฐาน

ปลาดุกเป็นปลาที่กินทั้งพืชและสัตว์ สักครึ่ง ๆ 50:50

ปลาดุกกินอาหารวันละ 5% ของน้ำหนักตัว

ปลาดุกที่ปล่อยขนาดทั่วไปของตลาดประมาณ 3ตัว/1กิโลกรัม

ปลาดุกถูกปล่อยลงไปในแหล่งน้ำที่สมบูรณ์มีอาหารให้กิน

โจทย์

– นายบุญหนัก ต้องการปล่อยปลาดุก 1,000 กิโลกรัม คิดเป็นปลาดุกประมาณ 3,000 ตัว

– ปลาดุก 1,000 กิโลกรัม จะกินอาหารวันละ 50 กิโลกรัม (1,000*5%)

– ในอาหาร 50 กิโลกรัมนี้เป็นสัตว์ครึ่งหนึ่ง ดังนั้นคิดเป็นสัตว์น้ำหนักรวม 25 กิโลกรัม หรือ 25,000 กรัม (1 กก. = 1,000 กรัม)

– ปลาดุกตัวขนาดนี้ สัตว์น้ำท้องถิ่นอย่าง ลูกปลาบู่ ลูกปลาตะโกก ลูกปลาตะเพียน ปลาซิว กุ้งฝอย และ หอยขม ที่กินได้พอดี ๆ คำจะตัวประมาณ 2-3 เซนติเมตรก็จะหนักไม่เกิน 5 กรัม ดังนั้นปลาดุก 3,000 ตัวที่นายบุญหนักปล่อยไปนี้ ถ้าต้องการมีชีวิตที่ดีก็ต้องกินสัตว์น้ำอื่น ๆ ไปวันละ 5,000 ตัว(25,000/5) หรือปีละ 1,800,000 ชีวิต (5,000*360)

– อันนี้คำนวณแบบง่าย ๆ ว่าปลาดุกไม่ได้โตขึ้นด้วยนะ ในความเป็นจริงกินไปโตไปก็จะกินเยอะขึ้นเรื่อย ๆ หรือถ้าระบบนิเวศแถวนั้นมันเสื่อมโทรมไปแล้ว ปลาดุกคุณหนูที่ถูกเลี้ยงดูมาอย่างดี จู่ ๆ ถูกเอามาปล่อยให้สู้ชีวิตด้วยตัวเองหาอาหารกินไม่ได้ก็อาจจะอดแล้วเสีຍชีวิตไปอย่างทรมๅนก็เป็นไปได้เช่นกันครับ

สรุปด้วยสมมุติฐานดั้งเดิมว่าปลาดุกรอด การปล่อยปลาดุก 1 ตัน เราจะสูญเสียสัตว์น้ำท้องถิ่นไปประมาณ 1.8 ล้านชีวิตต่อปี ในจำนวนนี้อาจจะเป็นลูกปลาเศรษฐกิจ ที่ถ้าปล่อยให้โตไปก็จะเป็นอาหารของชาวบ้านได้อีก ในจำนวนนี้อาจจะเป็นปลาหายากที่ถ้ารอดไปก็จะสามารถไปสืบพันธุ์ต่อได้ ในจำนวนนี้มีปลาท้องถิ่นขนาดเล็ก

ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศอย่างปลาซิวที่จะเป็นอาหารของปลาท้องถิ่นขนาดใหญ่ต่อไป ทั้งหมดนี้เป็นสัตว์น้ำที่อยู่ของเค้าดี ๆ ก็มีใครก็ไม่รู้เอาสัตว์ผู้ล่ามาปล่อยลงไปในบ้านเค้าเต็มไปหมด คือลองนึกภาพคุณอยู่ในบ้านของคุณดี ๆ ก็มีใครไม่รู้เอาเสือ เอาสิงโตมาปล่อยลงไปในหมู่บ้านคุณเพื่อทำบุญ โดยคุณไม่มีทางที่จะสู้เลย

ผมไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญเรื่องบุญบาปสักเท่าไหร่ อ่านแล้ว คิด วิเคราะห์ แยกแยะ กันนะครับว่าควรจะปล่อยไหม….สาธุ

ปล. เพิ่มเติมตอนค่ำ มีการเเชร์ออกไปเยอะมาก ผมก็ตามอ่านไปเรื่อยและหนึ่งในคำถามที่กลับมาคือไม่ปล่อยปลาดุกแล้วจะให้ปล่อยอะไร?

“โดยส่วนตัวแล้วผมมองว่าไม่ต้องปล่อยอะไรครับ ปลาเป็นสิ่งมีชีวิตที่ออกลูกคราวละมาก ๆ อยู่แล้ว ถ้าระบบนิเวศสมบูรณ์ ปลาเพิ่มจำนวนจนเต็มพื้นที่เร็วมาก

ดังนั้นถ้าคุณอยากช่วยปลา ช่วยกันดูแลคุณภาพให้ดี อย่าทิ้งขยะลงในน้ำ ช่วยกันต่อต้านโครงการทำลายระบบนิเวศในน้ำอย่างการ สร้างเขื่อน สร้างฝาย ขุดตลิ่ง ทำให้ปลามีที่อยู่ที่ดี เดี๋ยวเค้าเพิ่มจำนวนและชนิดตามความเหมาะสมของระบบนิเวศเองครับ”

ทั้งนี้ถ้าอยากใช้เงินในการช่วยสัตว์ ผมแนะนำให้นำเงินไปบริจาคให้องค์กรการกุศลต่าง ๆ ที่ช่วยเหลือสัตว์ในธรรมชาติ อย่าง สมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย มูลนิธิสืบฯ มูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือก หรือพวกกองทุนที่ช่วยเหลือผู้พิทักษ์ป่า

ซึ่งลำบากเสี่ยงชีวิตรักษาป่าให้พวกเรา แบบนั้นพวกเค้าจะเอาเงินของคุณไปช่วยให้สัตว์ได้อยู่ในธรรมชาติ ในบ้านของเค้าอย่างมีความสุข ได้บุญชัวร์ ๆ ครับ

เป็นคำตอบสุดท้ายและอยากให้พี่น้องทุกคนร่วมด้วยช่วยกันอย่างจริงจัง ก่อนที่จะไม่มีสัตว์เหล่านี้ให้เห็น

แหล่งที่มา: eat543

เรียบเรียงโดย baansuann.com