ชาวมอแกนช้ำหนัก ไม่มีนักท่องเที่ยว เศรษฐกิจทรุด ขาดรายได้ เด็ก ๆ ไม่ได้รับการศึกษา

จากวิกฤตโควิด-19 ทำให้มอแกนช้ำหนัก เศรษฐกิจทรุด หลังนักท่องเที่ยวต่างชาติหาย ขาดรายได้หลัก ทำการประมงก็ไม่ได้ และเด็ก ๆ ในหมู่บ้านไม่ได้รับการศึกษาเท่าที่ควร

หมู่บ้านชาวเล หรือ มอแกน ตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณอ่าวบอน เกาะสุรินทร์ใต้ จังหวัดพังงา มีสมาชิกอยู่ประมาณ 300 คน เป็นชนเผ่าที่มีวิถีการดำรงชีวิตแบบดั้งเดิมหาเลี้ยงชีพโดยการงมหอย แทงปลา มอแกนไม่มีภาษาเขียนบางคนสามารถพูดภาษายาวีและภาษาไทยได้บ้าง

ชาวมอแกนมีชีวิตที่ผูกพันอยู่กับทะเลมาเป็นเวลาหลายร้อยปี มีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับการเดินเรือ การดูทิศทางโดยอาศัยดวงดาว ลมและคลื่น รวมทั้งการว่ายดำน้ำและการทำมาหากินทางทะเล และมีความรู้เกี่ยวกับป่า และพืชพรรณไม้ที่หลากหลายด้วย

พวกเขามีความเชื่อในเรื่องของภูตผีและวิญญาณบรรพบุรุษ ถือได้ว่าชาวมอแกนเป็นชนเผ่าที่ยังคงรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีดั้งเดิมไว้มากที่สุด เป็นที่ทราบกันดีว่างชาวมอแกนนั้นประกอบอาชีพประมงเป็นหลัก ทั้งงมหอย ตกปลา จับปูและสัตว์ทะเลต่าง ๆ

รวมถึงยังใช้เรือหาปลารับ-ส่งนักท่องเที่ยวที่เข้ามาดำน้ำชมความงามของปะการังของเกาะ บางส่วนก็ทำของที่ระลึก หรือสินค้าพื้นบ้าน การอุดหนุนสินค้าพื้นบ้าน สร้างรายได้ให้กับชาวมอแกนอีกทางหนึ่งนั่นเอง

ช่วงเวลาท่องเที่ยวที่เหมาะสมคือ เดือนพฤศจิกายนถึงเดือนเมษายนของทุกปี ซึ่งในแต่ละปีอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์จะมีช่วงฤดูท่องเที่ยว โดยในปี 2563 ได้เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าเที่ยวตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2563 เป็นต้นไป

และจะปิดเกาะทุกช่วงวันที่ 16 พฤษภาคม – 14 ตุลาคม 63 เนื่องจากเป็นช่วงฤดูมรสุม และลดความเสี่ยงอันตรายจากสภาพอากาศที่แปรปรวน และได้ฟื้นฟูสภาพธรรมชาติ

ที่ผ่านมาชาวมอแกนก็ผ่านวิกฤตหนักมาหลายอย่างไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิเมื่อปี 47 และเหตุไฟไหม้บ้านเรือนกว่า 65 หลัง เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ ปี 62 ที่ผ่านมานั้น แน่นอนว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ชาวมอแกนก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน แม้ว่าจะไม่พบผู้ติดเชื้อ แต่พวกเขาได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจที่กำลังซบเซาในตอนนี้

ซึ่งหมู่เกาะสุรินทร์ ได้เปิดเกาะไปเมื่อวันที่ 15 ตุลาคมที่ผ่านมา กับการท่องเที่ยวแบบ New Normal โดยเปิดให้นักท่องเที่ยวจองผ่านแอพ QueQ ได้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา สามารถจองล่วงหน้าได้ 15 วัน โดยจะแบ่งสัดส่วน จองล่วงหน้าผ่านแอพ 70% นักท่องเที่ยวแบบ Walk In 30%

แต่นักท่องเที่ยวที่เข้ามายังหมู่เกาะแห่งนี้ก็ไม่ได้ครึกครื้นเหมือนปีที่ผ่านมาเท่าไหร่นัก เพราะทุกคนต่างได้รับผลกระทบจากโควิด-19 กันถ้วนหน้า รวมถึงนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เป็นแหล่งรายได้หลัก ที่ไม่สามารถออกจากประเทศต้นทางมาพักผ่อนยังสถานที่แห่งนี้ได้เช่นกัน

เมื่อหวังให้นักท่องเที่ยวชาวไทยเข้ามาท่องเที่ยว ก็น้อยลงไปกว่าเดิมเพราะ คนไทยส่วนใหญ่ในช่วงนีก็รัดเข็มขัดกันอย่างเต็มที่ เนื่องด้วยเศรษฐกิจที่ไม่สู้ดีในตอนนี้ เวลาไปเที่ยวพักผ่อนที่ไหนก็ไม่ได้ไปไกลจากจังหวัดของตนซักเท่าไหร่ เพื่อที่จะได้ประหยัดเงินให้ได้มากที่สุด

เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2563 ที่ผ่านมา เพจเฟซบุ๊ก Love Andaman ก็ได้ออกมาโพสต์ถึงเรื่องราวชีวิตของชาวมอแกนในตอนนี้ว่า “ดราม่าชีวิตชาวมอแกน ชีวิตลำบากไม่มีอะไรมาถึงเกาะ แม้กระทั่งกาวสำหรับการทำแว่นที่ระลึกยังไม่มี คุณครูที่คอยสอนหนังสือเด็ก ๆ ก็มีเพียงคนเดียว ซึ่งลาคลอด ไม่ได้เรียนหนังสือมานานแล้ว”

พร้อมทั้งยังวอนให้ภาครัฐ หรือผู้มีอำนาจเข้ามาช่วยเหลือ พร้อมทั้งเชิญชวนให้ผู้คนเข้ามาท่องเที่ยว ณ หมู่เกาะสุรินทร์ให้มากขึ้น และช่วยอุดหนุนกิจการ ร้านขๅยของ หรือของที่ระลึกต่าง ๆ ของชาวมอแกน

แหล่งที่มา : Love Andaman / อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์

เรียบเรียงโดย baansuann.com