ในหลวง รัชกาลที่ 9 กษัตริย์ผู้ที่ประหยัดที่สุด ทรงพอเพียงเพื่อเป็นต้นแบบให้ปวงชนชาวไทย

ในหลวง รัชกาลที่ 9 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงเรียนรู้หลักความพอเพียง สมถะมาตั้งแต่ครั้งยังทรงพระเยาว์

จนกระทั่งสมเด็จย่ามีพระดำรัสในเวลาต่อมาว่า “ในสวนจิตรเนี่ย คนที่ประหยัดที่สุดคือในหลวงรัชกาลที่ 9 ประหยัดที่สุดทั้งน้ำ ทั้งไฟ เรื่องฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือยไม่มี” ดังเช่นของใช้ส่วนพระองค์ที่รวบรวมมาให้ชมนี้ ซึ่งทำให้รู้ว่า ในหลวงรัชกาลที่ 9 ท่านทรงพอเพียงและทรงงานหนักเพียงใดเพื่อปวงชนชาวไทย

ภาพจาก Facebook ต้นแบบแห่งชีวิต รองเท้าของพ่อ

ฉลองพระบาทคู่โปรดของพระองค์ท่านนั้น ถึงจะเก่าแต่ก็นำมาซ่อมเรื่อย ๆ จนกระทั่งไม่สามารถซ่อมได้แล้วจึงหยุด รองเท้าหนังสีดำธรรมดา สภาพชำรุด เนื่องจากการใช้งานหลายสิบปี ภายในรองเท้าผุกร่อนหลุดล่อน หลายแห่ง ซึ่งถ้าเป็นคนทั่วไปก็อาจจะทิ้งไปแล้ว เป็นสิ่งที่คุณศรไกร แน่นศรีนิล ช่างทำรองเท้าร้าน ก.เปรมศิลป์ (สี่แยกพิชัย) ได้เล่าย้อนถึงวันวานอันแสนประทับใจ

ในสมัยนั้นคุณศรไกรหลังจากที่เป็นลูกจ้างร้านซ่อมรองเท้ามาสิบกว่าปี ก็ได้มาเปิดร้านของตัวเองแถบถนนพิชัย วันหนึ่งเจ้าหน้าที่ของสำนักพระราชวังก็ได้ถือพานใส่รองเท้าเข้ามาในร้าน และนี่ถือเป็นจุดเริ่มต้นอันทรงเกียรติที่ได้มีโอกาสถวายงานแก่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ยาวนานเป็นเวลาหลายสิบปี

ซึ่งในครั้งแรกนั้นนอกจากจะใช้เวลาซ่อมฉลองพระบาทคู่สีดำเกือบเดือน เขายังถือโอกาสตัดฉลองพระบาทถวายพระองค์ท่านเพิ่มอีกคู่หนึ่งด้วย หลังจากนั้นก็ได้มีโอกาสซ่อมฉลองพระบาทอีก 4 คู่ที่ทรุดโทรมแตกต่างกันไป

ปัจจุบันนี้ร้าน ก.เปรมศิลป์ (สี่แยกพิชัย) ได้เก็บรักษาชิ้นส่วนพื้นฉลองพระบาทใส่กรอบไว้บนหิ้งบูชา ตกแต่งอย่างดี มีพานและผ้าคลุมพานสีเหลือง

กล้องถ่ายภาพคู่พระหัตถ์รุ่นแรก

จากภาพในสื่อสิ่งพิมพ์ โทรทัศน์ และภาพบนอินเทอร์เน็ตที่ปล่อยออกมาอยู่เนือง ๆ เรามักจะได้เห็นภาพที่พระองค์ท่านทรงพกกล้องถ่ายภาพ และอยู่ในพระอิริยาบถของนักถ่ายภาพ ไม่ว่าจะเสด็จฯไปที่ใดเสมอ แค่เฉพาะกล้องถ่ายภาพคู่พระหัตถ์ที่เป็นกล้องฟิล์มก็มีกว่า 20 รุ่น ฉายภาพร้อยเรียงเรื่องราวและแสดงถึงพระอัจฉริยภาพด้านการถ่ายภาพ

ซึ่งพระองค์ท่านมีพระปรีชาสามารถไม่แพ้ด้านอื่น สำหรับกล้องตัวแรกที่ทรงใช้เป็นกล้องตัวเล็ก ๆ มีชื่อว่า Coronet Midget สีเขียวปะดำ ของฝรั่งเศส ราคา 2 ฟรังก์สวิส ที่พระองค์ท่านทรงซื้อด้วยเงินสะสมส่วนพระองค์ เมื่อพระชนมายุเพียง 8 พรรษา ราวปี พ.ศ.2479

ดินสอทรงงาน

อย่างที่ทราบกันดีว่า พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเป็นแบบอย่างในหลายด้านแก่ปวงชนชาวไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของ “ความพอเพียงและความประหยัดอดออม” ซึ่งดินสอไม้ที่พระองค์ทรงใช้ถือเป็นตัวอย่างหนึ่งที่แสดงถึงด้านนี้ได้เป็นอย่างดี

มีบันทึกว่าในปีหนึ่งพระองค์จะทรงเบิกดินสอที่มียางลบติดท้ายแท่ง เพียงแค่ 12 แท่งเท่านั้u โดยใช้เดือนละ 1 แท่ง จนกระทั่งดินสอแท่งนั้น กุด จนเขียนไม่ได้แล้วจึงเปลี่ยน ซึ่ง สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ก็ทรงเจริญรอยตามเบื้องพระยุคลบาท

โดยครั้นเมื่อทรงศึกษาที่โรงเรียนจิตรลดา พระองค์ท่านทรงใช้ดินสออย่างคุ้มค่าที่สุด เมื่อสั้นจะทรงใช้กระดาษมาม้วนต่อปลายดินสอให้ยาว เพื่อให้เขียนได้ถนัดมือจนกระทั่งหมด

หลายคนอาจสงสัยว่า ทำไมพระองค์ท่านจึงทรงเลือกใช้ดินสอในการทรงงานแทนปากกาตามสมัยนิยม ที่เป็นเช่นนั้นเพราะด้วยทรงเห็นว่าราคาถูกและผลิตได้ในประเทศ อีกทั้งเมื่อผิดก็สามารถลบออกได้ง่าย

สมุดบันทึกส่วนพระองค์

หลอดยาสีพระทนต์

ภาพหลอดยาสีพระทนต์นี้จะเห็นได้ชัดเจนว่ามีลักษณะแบนราบเรียบคล้ายแผ่นกระดาษ โดยเฉพาะบริเวณคอหลอดยิ่งปรากฏรอยบุ๋ม ลงไปจนถึงเกลียวคอหลอด สาเหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะพระองค์ท่านทรงใช้ด้ามแปรงสีพระทนต์ช่วยรีดและกดจนเป็นรอยบุ๋ม หลายคนคงตั้งคำถามว่าแล้วภาพหลอดยาสีพระทนต์ส่วนพระองค์นี้มีมาให้เราชมได้อย่างไร เรื่องราวมีที่มาดังนี้

ครั้งหนึ่งแพทย์หญิง ท่านผู้หญิงเพ็ชรา เตชะกัมพุช ทันตแพทย์ประจำพระองค์ และอดีตคณบดีคณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้กราบถวายบังคมทูลเรื่องศิษย์ทันตแพทย์จุฬาฯแก่พระองค์ท่าน ใจความเกี่ยวกับค่านิยมอันฟุ้งเฟ้อ ในการใช้ของนอกและมีราคาแพง

ซึ่งมีความแตกต่างจาก สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงนิยมใช้กระเป๋าผลิตภายในประเทศเช่นสามัญชนทั่วไป ทรงใช้ดินสอสั้นจนต้องต่อด้าม หรือแม้แต่ยาสีพระทนต์ของพระองค์ท่านก็ทรงใช้ด้ามแปรงพระทนต์รีดหลอดยาจนแบน ไม่หลงเหลือยาสีพระทนต์อยู่ในหลอด

ครั้นเมื่อกราบบังคมทูลเสร็จ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จึงรับสั่งว่าของพระองค์ท่านก็เหมือนกัน อีกทั้งเมื่อไม่นานมานี้มหาดเล็กห้องสรงเห็นว่ายาสีพระทนต์ของพระองค์คงใช้หมดแล้ว จึงได้นำหลอดใหม่มาเปลี่ยนให้แทน เมื่อพระองค์ทรงทราบ ก็ได้ขอให้เขานำยาสีพระทนต์หลอดเก่ามาคืน

และพระองค์ท่านยังทรงสามารถใช้ต่อไปได้อีกถึง 5 วัน ด้วยพระจริยวัตรที่ดีงาม ทันตแพทย์ประจำพระองค์จึงได้กราบพระบาททูลขอพระราชทานหลอดยาสีพระทนต์หลอดนั้นไปประดับที่คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อนำไปเป็นเครื่องเตือนใจให้ศิษย์รู้จักประหยัด ลดการใช้ของฟุ่มเฟือย

ที่มา : ประภาส ชลศรานนท์ จากหนังสือพิมพ์มติชน วันอาทิตย์ที่ 24 ธันวาคม พ.ศ.2543 คอลัมน์ “คุยกับประภาส”

อุปกรณ์งานช่าง งานวิจัยส่วนพระองค์

ของเล่นส่วนพระองค์

แผนที่ของในหลวงรัชกาลที่ 9

หากได้ติดตามพระราชกรณียกิจของพระองค์ท่านอย่างต่อเนื่อง จะพบว่านอกเหนือจากดินสอไม้มียางลบที่เป็นสิ่งของทรงงาน ทุกครั้งที่พระองค์ท่านเสด็จฯไป ณ สถานที่ใด จะต้องมีแผนที่อยู่แผ่นหนึ่งติดข้างพระวรกายเสมอ ซึ่งแผนที่ฉบับนั้นเรียกว่า “แผนที่มาตราส่วน 1 : 50,000” เป็นเครื่องมือที่นายช่างชลประทานใช้ในการวางโครงการชลประทานเบื้องต้น

และหากคลี่แผนที่ของพระองค์ท่านออกมา จะพบว่ามีขนาดใหญ่มาก เนื่องจากทรงนำแผนที่หลายแผ่นมาต่อกันด้วยพระองค์เองอย่างปราณีต ขนาดถึง 9 แผ่น หรือ 9 ระวาง แล้วพับให้เหลือขนาดที่ทรงพกพาได้สะดวก เพื่อสามารถคลี่มาดูจุดที่ต้องการได้ในทันทีโดยไม่ต้องกางทั้งแผ่น

ครั้งหนึ่ง สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเล่าถึง “แผนที่ของในหลวงรัชกาลที่ 9” ไว้ในรายการวิทยุ “พูดจาภาษาช่าง” ทางสถานีวิทยุจุฬาฯ โดยจะขอยกมาใจความหนึ่ง นอกเหนือจากขนาดที่กว้างกว่าแผนที่คนอื่น “ทุกครั้งก่อนที่จะเสด็จฯไปไหน พระองค์ท่านจะทรงเตรียมทำแผนที่และศึกษาแผนที่นั้นโดยละเอียด

แล้วเมื่อเสด็จฯ ไปถึง พระองค์ท่านจะทรงสอบถามชาวบ้านว่าสถานที่นั้นอยู่ที่ไหน ทิศเหนือมีอะไร ทิศใต้มีอะไร ถามหลายๆ คน แล้วตรวจสอบไปมา ระหว่างที่ถามนั้นดูจากแผนที่ว่าแผนที่อันนั้นถูกต้องดีหรือไม่ น้ำไหลจากไหนไปที่ไหน” ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลนี้เป็นสาเหตุว่าทำไมแผนที่ของพระองค์ท่านจึงเต็มไปด้วยรอยปะกาว

นาฬิกาส่วนพระองค์

พระองค์ทรงไม่เห็นความจำเป็นว่าต้องใช้ของแพง หรือต้องเป็นแบรนด์เนม ไม่โปรดสวมเครื่องประดับ เช่น แหวน สร้อยคอ ของมีค่าต่าง ๆ ยกเว้นนาฬิกา

คลังภาพในหลวงในงานพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี นาฬิกาบนข้อพระหัตถ์คือ Seiko SKJ045P นาฬิกาดำน้ำระบบ Kinetic ตัวเรือนเป็นไทเทเนียม ซึ่งถือว่าเป็นนาฬิการะดับธรรมดามาก ๆ เรียกภาษาชาวบ้านคือเป็นนาฬิกาใช้งาน แสดงถึงความเรียบง่ายและสมถะของพระองค์ท่าน และทรงเป็นแบบอย่างแห่งความพอเพียงอย่างที่สุด

แหล่งที่มา : สารพันคนท้อง / นิตยสารแพรว

เรียบเรียงโดย baansuann.com